กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมเครือข่ายพันธมิตรเข้านำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงและยกระดับผู้ประกอบการไทย หรือ d-CONNECTIVITY ผ่าน 2 โครงการสำคัญ ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด Digital Infinity – ดิจิทัลไม่มีที่สิ้นสุด แก่ นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และผู้บริหารจากเครือข่ายพันธมิตรที่ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มใน 2 โครงการสำคัญของ depa ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด Digital Infinity – ดิจิทัลไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ประกอบด้วย บริษัท ทราวิซโก เทคโนโลยี จำกัด บริษัท เทลสกอร์ จำกัด และ บริษัท อีเทลลิเจนซ์ จำกัด ร่วมนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงและยกระดับผู้ประกอบการไทย หรือ d-CONNECTIVITY แก่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
ผศ.ดร.ณัฐพล เปิดเผยว่า หนึ่งในแนวทางการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืนคือ DIGITAL CONNECTIVITY (d-CONNECTIVITY) หรือ การเชื่อมโยงระหว่างอุปกรณ์-บุคคล-ธุรกิจ-สังคม เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในโลกกึ่งเสมือนและโลกเสมือนที่ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ในสองโลกพร้อม ๆ กัน รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) การนำข้อมูลออกมาใช้ประโยชน์ และการนำข้อมูลมาประมวลผลเพื่อประโยชน์ในมิติต่าง ๆ
ในงานได้มีการนำเสนอ โครงการคือ CONNEXION โดยความร่วมมือระหว่าง depa อีเทลลิเจนซ์ และ เทลสกอร์ แบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย CONNEXION (www.depaconnexion.com) และ Etailligence โดย CONNEXION คือ แพลตฟอร์มหลักสูตรออนไลน์ที่จะช่วยยกระดับองค์ความรู้ พัฒนาทักษะชุดใหม่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลแก่ประชาชนผู้ว่างงานและนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางานให้มีความพร้อมต่อการประกอบอาชีพใหม่ที่มีความสำคัญกับอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในปัจจุบันอย่าง คอนเทนต์ครีเอเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์
และ Etailligence คือ แพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซแห่งแรกของไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการในประเทศกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำในตลาด ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลของผู้ค้าออนไลน์สัญชาติไทย และข้อมูลต่าง ๆ ที่มีการจัดเก็บ อาทิ ชื่อสินค้า ยี่ห้อ คำอธิบายสินค้า หมวดสินค้าใหญ่ ราคาซื้อต่อหน่วย จำนวนที่ซื้อ ฯลฯ ซึ่งผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ข้อมูลดังกล่าวสามารถใช้ในรูปแบบแดชบอร์ดที่มีการวิเคราะห์ภาพรวมของร้านค้า โดยสามารถกรองหมวดหมู่ของสินค้าที่สนใจ แนวโน้มของสินค้าที่ได้รับความสนใจ วิเคราะห์ภาพรวมของตลาด เพื่อให้เห็นช่องว่างของตลาด และติดตามความนิยมของสินค้าที่ผู้ใช้งานสนใจได้
“ทั้งนี้ แพลตฟอร์มจากทั้ง 2 โครงการมีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อรองรับการต่อยอดในมิติต่าง ๆ ซึ่งด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างอาชีพและรายได้ สอดรับความถนัดและความสนใจของคนรุ่นใหม่ ซึ่งทั้ง 2 โครงการจะมีบทบาทสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของไทยในอนาคต” ผู้อำนวยการใหญ่ depa กล่าว
ด้านการท่องเที่ยว depa ได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงและยกระดับผู้ประกอบการไทยใน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเปิดเมือง เปิดท่องเที่ยวไทยด้วยดิจิทัล ที่มีการพัฒนา ThailandCONNEX แพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวแห่งชาติ (National Digital Tourism Platform) โดยความร่วมมือระหว่าง depa และ ทราวิซโก เทคโนโลยี เพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวประเภทต่าง ๆ ทั่วไทยกับ Online Travel Agents (OTAs) ของดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยและ OTAs ที่ดำเนินการอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในทางกลับกัน OTAs ไทยและต่างชาติจะสามารถเข้าถึงทรัพยากรการท่องเที่ยวของไทยได้ง่ายขึ้น
“ThailandCONNEX ตั้งเป้ารวบรวมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยไว้ในแพลตฟอร์มมากกว่า 1 แสนราย มีสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวจากผู้ประกอบการนำเสนอบนแพลตฟอร์ม ไม่ต่ำกว่า 2 แสนรายการ ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่า 12,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลภาคเอกชนไปใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เตรียมความพร้อมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค Data Economy และยกระดับการทำดิจิทัลคอนเทนต์ให้กับผู้ประกอบการมากกว่า 5,500 ราย” ผู้อำนวยการใหญ่ depa กล่าว
ภายหลังรับฟังการนำเสนอแนวทางขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงและยกระดับผู้ประกอบการไทยแล้ว พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า d-CONNECTIVITY ถือเป็นอนาคตของประเทศ อีกทั้งเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพแก่ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว และธุรกิจอีคอมเมิร์ซของไทย โดยข้อมูลที่ได้รับการจัดเก็บในแพลตฟอร์มจะเป็นส่วนช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ พร้อมมอบหมายให้ กระทรวงดิจิทัลฯ โดย depa เร่งต่อยอดให้เกิดการเชื่อมโยง เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถนำข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้ง 2 โครงการจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลได้อย่างมั่นคง